โรงพยาบาล

ผู้ป่วยจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง หากต้องไปโรงพยาบาลรัฐ ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปรอคิวนานๆ แถมอาจโดนเหวี่ยงใส่อีก

คุณเคยไปใช้สิทธิการรักษาตามโรงพยาบาลรัฐไหม? คุณต้องไปตั้งแต่กี่โมง เพื่อที่จะไปรอคิวตรวจ แล้วคุณเคยไหม? โดนเจ้าหน้าที่พูดจาไม่ดีใส่ วันนี้เราจะมาคุยกันว่าด้วยเรื่อง ประสบการณ์การไปโรงพยาบาลรัฐ กับปัญหาที่มาจากประสบการณ์จริง ที่ผู้ป่วยหลายคนได้ไปพบและประสบกับมันมา มาแชร์กันอยู่เสมอ

เนื่องด้วย ระบบสุขภาพในไทยนั้น มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เป็นจำนวณมาก ในโรงพยาบาลท้องถิ่น จนทำให้หมอและทีมแพทย์ ต่างพากันมากระจุกตัว อยู่ในเมืองใหญ่ บางครั้งคนไข้ต้องรอคิวนานเป็นวันๆ เพื่อจะได้ใช้สิทธิรักษาฟรี ที่ใช้เวลาตรวจเพียง 5 นาที โดยในขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์เอง ก็ประสบกับปัญหา

ทั้งเรื่องภาระงานที่มากล้นจนเกินพอดีทำให้หมอและพยาบาลล้วนเหนื่อยล้า ซึ่งอาจกลายเป็นอารมณ์ไม่พอใจที่ทำให้ผู้รับการรักษามองว่า ถูกบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตัวไม่ดีด้วยไปอีก เราขอรวมเสียงคนที่เคยเข้ารับการรักษาพยาบาลและพบเจอเรื่องราวต่างๆ

โรงพยาบาล

เพื่อมาแชร์ให้เห็นถึงปัญหาในมุมของคนไข้กัน

“เราต้องพายายไปลอกตาที่โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งถ้าใครไม่เคยไปก็คงงงมากว่าจะต้องไปทางไหน เพราะโรงพยาบาลรัฐมีหลายขั้นตอนมาก ต้องเดินไปนู่นนี่ มีระบบประกันสังคม บัตรทอง แบบจ่ายเอง แยกชั้นแยกตึกกันไป” ชูชูมองว่า บุคลากรในโรงพยาบาลก็พูดจาไม่ค่อยดี ราวกับไม่พอใจตลอดเวลา ถอดแบบกันมาเป็นหลักสูตร ซึ่งหากเทียบกับเอกชนแล้วจะเห็นว่าต่างกันมาก แต่เอกชนก็มีค่าใช้จ่ายแพง

“จริงๆ เราเคยพายายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่มันมีความผิดพลาดเรื่องการรักษา แม่ก็เลยมองว่า ให้ไปโรงพยาบาลรัฐดีกว่า ด้วยความเชื่อว่ามีหมอเก่งๆ เยอะ คราวนี้เลยได้รู้ซึ้งถึงความต่างระหว่างโรงพยาบาลเอกชนที่กินน้ำส้มไม่ถึงชั่วโมงกลับ กับโรงพยาบาลรัฐที่ไม่มีที่นั่ง ยืนปวดแข้ง รอไปทั้งวัน”

“ส่วนเรื่องลอกตาก็ต้องรอหมอ ยิ่งเป็นหมอพิเศษก็ยิ่งรอนาน พอหมอตรวจเสร็จก็ต้องมานั่งรอยาอีก เรียกว่าทั้งวันนั้นไม่ต้องทำอะไร มีหน้าที่รออย่างเดียวจริงๆ ไป 7 โมง เสร็จ 4 โมง แล้วคนแก่อ่ะ นั่งรถเข็น ปวดใจอยู่นะ ข้าวก็หิว แต่ไม่กล้ากินที่โรงพยาบาล กลัวเชื้อโรค ไหนจะความลำบากในการเดินไปเดินมาของคน จะให้ออกมากินก็กลัวเลยคิว โดนวีนอีก”

แต่จะให้ยายของเธอย้ายกลับไปโรงบาลเอกชน ยายก็ไม่ยอม เพราะเขากลัว ฝังใจ เธอจึงต้องหาโรงพยาบาลที่คิดว่าโอเค สามารถให้รักษายายได้แทน

“มีอีกกรณีคือตอนที่ตาป่วยเป็นสโตรก ตาขยับตัวไม่ได้ ช่วง COVID-19 เราเลยไม่ได้ไปเยี่ยม พยาบาลเป็นคนดูแล พอตากลับบ้านมามีแผลเต็มตัวเลย เรารู้ว่าพยาบาลเขางานเยอะแหละ เลยไม่มีเวลาพลิกตัว แต่แล้วจะต้องไง ตอนไปบางทีก็พูดจาไม่ดี แค่บอกว่าขอแพมเพิร์ส แต่โดนอารมณ์แบบไล่ญาติกลับเลย”

“เราเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ รู้ครั้งแรกตอนเข้าห้องฉุกเฉิน วันที่เจอคือต้องเจาะเลือด ดูผล และยืนยันแล้วว่าเป็น ทุกอย่างจบได้ในวันนั้นเลย แต่พอจะไปหาหมอแบบรักษาประจำจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หมดเลย คือ ต้องไปหาหมออายุรกรรม ที่เป็นหมอกลางที่จะคอยมาคัดกรองก่อนว่า เราเป็นโรคอะไร แล้วจะส่งต่อไปหาหมอแผนกไหน รอคิวเป็นเดือนกว่าจะได้หาหมอกลาง จากนั้นก็รอคิวอีกประมาณ 1-2 เดือน ถึงได้หาหมอเฉพาะทางไทรอยด์จริงๆ”

มากิกล่าวว่า เวลาจะหาหมอที ต้องไป 2 วัน วันแรกคือไปเจาะเลือดเฉยๆ ที่ก็เสียเวลาครึ่งเช้าไปเลย ต้องไปเจาะเลือดก่อนล่วงหน้าประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วก็ต้องไปหาหมออีกทีนึง สรุปก็คือหาหมอ 1 ครั้ง เสียเวลาประมาณ 2 วัน เท่ากับต้องลางาน-ลาเรียนบ่อยๆ แถมบอกเป็นโรงพยาบาลรัฐก็ย้ายไปหานอกเวลาราชการไม่ได้ ยกเว้นจะจ่ายเงินเพิ่ม ยังไงก็ต้องลา

“ไปทีนึงก็ต้องรอหลายชั่วโมง ในวันเจาะเลือดก็ต้องรีบไปแต่เช้าเพื่อให้ได้คิวแรกและเสร็จธุระไวที่สุด จะได้ไปเรียนต่อตอนบ่ายทัน หรือในวันที่จะพบหมอ ก็ต้องถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ 6.00-7.00 น. ซึ่งจะได้ตรวจประมาณ 11.00-12.00 น. แล้วแต่ดวง กว่าจะกลับถึงบ้านก็บ่ายๆ พอดี วันนั้นทั้งวันแทบไม่ได้ทำไรเลย ระหว่างรอก็คือ ช่วงชั่วโมงแรกๆ ที่รอก็จะกล้าไปกินข้าว ไปทำนู่นนี่แหละ”

มากิกล่าวอีกว่า ช่วงที่ใกล้จะได้เวลาตรวจเธอยิ่งไม่กล้าไปไหนเลย

เพราะเคยลุกไปเข้าห้องน้ำ กลับมาเขาก็ข้ามคิว ไม่ได้รอ ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่ก็พยายามไม่ไปไหนอีกหลังจากนั้น นอกจากนี้ ยังเคยเจอเจอพยาบาลกับบุคลากรทางการแพทย์ดุใส่ ซึ่งมากิใช้คำว่า ‘ดุทุกแผนก ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ทั่วไปชั้นหนึ่งที่คอยตรวจสอบสิทธิ์ ทำบัตร ยันพยาบาลที่คอยดูแลคนไข้’ อย่างที่เธอเคยเจอโดยตรงคือ เวลาไม่รู้อะไรแล้วไปถาม บางคนก็จะชอบด่าแบบใส่อารมณ์

“ตอนเราเจาะเลือดครั้งแรก เรากลัวเข็ม เราก็บอกเขาไป แล้วเขาก็ดุเราว่าจะกลัวทำไม แล้วแขนเราหาเส้นเลือดยาก เหมือนพยาบาลหาไม่เจอ เขาก็เลยเจาะ แล้วก็เค้นหาเส้นเลือดทั้งๆ ที่เข็มยังคาแขนเรา เราก็ร้องไห้และเกร็งจัดเพราะกลัวมากๆ เขาก็ดุเรา แล้วก็พูดทำนองว่า จะร้องทำไม ร้องไปก็ไม่ได้หาเจอ อยู่นิ่งๆ จะเกร็งทำไม อย่าเกร็งสิ เสียงดังๆ ใส่เรา ทั้งที่เราแบบ นั่งน้ำตาไหลเป็นทางเลย โมโหมาก อยากย้อนเวลากลับไปต่อสู้”

“จริตเวลาเรียกคนไข้พบหมอ เรียกคนไข้ทำอะไรสักอย่าง ของพยาบาล ถ้าเข้าไปฟังเองจะรู้เลยว่ามันมีความเหวี่ยงวีนราวกับเราไปขอรักษาฟรีอยู่ในนั้น มันไม่ค่อย friendly กับคนไข้เท่าไหร่ โดยเฉพาะกับคนสูงวัยที่ป้ำๆ เป๋อๆ” มากิเล่าว่า สิทธิรักษาที่เธอใช้ในตอนนั้น คือสิทธิ 30 บาทที่ได้ในฐานะนิสิตจุฬาฯ ซึ่งทำให้เธอไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสักบาท แต่ก็แลกกับการต้องไปพบเจอสิ่งที่เธอเล่ามา

มามาโคโค่ เล่าว่า วันนั้นเธอไปโรงพยาบาล 2 ที่พร้อมกัน ทั้งรัฐและเอกชน ทำให้เห็นความชัดเจนมากว่าทั้งสองแบบต่างกันตรงไหน ของโรงพยาบาลรัฐ เข้าไปแล้วหลงทาง ผังโรงพยาบาลทำให้คนดูงง แล้วพอเป็นโรงพยาบาลรัฐก็ไม่มีใครคอยเข้ามาถามว่าจะไปทางไหน ขณะที่ของเอกชน บางที่จะทำรวมทุกแผนกในตึกเดียว ดูตรงลิฟต์ก็รู้ว่าต้องไปไหน ซึ่งต่างจากของรัฐที่บางทีก็ต้องไปตึก คอ หู จมูก ซึ่งอยู่คนละทาง

เธอเล่าว่า ก่อนจะไปเจอหมอ เธอได้ปรึกษากับหมอในแอพฯ นึงมาก่อน แล้วพอเล่าให้พยาบาลฟัง น้ำเสียงที่เขาใช้ก็เหมือนดูถูกว่า เธอไปหาหมอเถื่อน พอเล่าอาการให้ฟัง พยาบาลก็แสดงท่าทีเหมือนเธอแพนิกไปเอง

“เราไม่รู้ว่าจะไปแผนกไหน เขาส่งเราไปอายุรกรรม ก่อนจะส่งไปนรีเวท ไปถึงก็บอกว่าคิวก็เต็ม เราก็ไม่คิดจะรอแล้ว เลยไปโรงพยาบาลเอกชนเลย เพราะไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะได้ตรวจไหม แล้วก็คิดว่า คลินิกนอกเวลาก็ต้องเสียเงินเหมือนกัน เลยไปเสียให้เอกชนดีกว่า จาก 10 โมงถึงบ่าย 2 กว่าแล้ว”

แต่เอกชนก็แลกมาด้วยราคาที่แพงกว่า เธอเสริมว่า ตอนไปตรวจที่โรงพยาบาลรัฐ เสียแค่ค่าตรวจปัสสาวะ 100-200 บาท แต่ถ้าไปเอกชนก็มีค่าเหยียบโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 300 รวมค่าหมอต่างๆ อีก ซึ่งเท่ากับว่าต้องเตรียมเงินไปเลยอย่างน้อยหลักพัน

ขอบคุณแหล่งที่มา : thematter.co

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : ilovegkr.com